ทำความรู้จักกับ 3 สายพันธุ์ใหญ่ของกัญชา และสายพันธุ์ลูกผสม (Hybrid)
เนื่องด้วยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการเพาะพันธุ์กัญชาขึ้นมาเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และตระหนักถึงประสิทธิภาพของกัญชาประเภทต่างๆ ว่า
สายพันธุ์ใดเหมาะสำหรับจุดประสงค์ใด หรือใช้บรรเทารักษาโรคภัยไข้เจ็บชนิดไหนได้บ้าง การเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าผู้ใช้หรือผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์และผลจากการบำบัดที่ดีที่สุด
กัญชาเป็นพืชสมุนไพรสกุล Cannabis อยู่ในวงศ์ Cannabidaceae มี 3 สายพันธุ์ใหญ่ที่พบบ่อย คือ อินดิกา (Indica), ซาติวา (Sativa) และ รูเดอราลิส (Ruderalis) ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะทางกายภาพ และการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและร่างกายที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในทางการแพทย์และการใช้งานสันทนาการนั้นจะจำกัดอยู่แค่ อินดิกา และ ซาติวา เท่านั้น เนื่องจากสายพันธุ์รูเดอราลิสโดยมากแล้วมีขนาดเล็ก ให้ผลผลิตค่อนข้างน้อย และออกฤทธิ์อ่อน จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม
อินดิกา (Indica) Vs. ซาติวา (Sativa)
กัญชาสายพันธุ์อินดิกาได้ชื่อตามแหล่งกำเนิดที่ค้นพบในอินเดียและบริเวณตะวันออกกลาง ลำต้น
มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ใบกว้าง สั้น สีเขียวเข้ม กิ่งก้านดกหนา ชอบที่ร่มและอากาศเย็น เมื่อเติบโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 6-8 สัปดาห์ สายพันธุ์ซาติวานั้นลำต้นมีลักษณะสูงและผอม ใบมีลักษณะบาง ยาวเรียว สีเขียวอ่อน ชอบแดดและ อากาศร้อน ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ 9-16 สัปดาห์
การออกฤทธิ์ของอินดิกาและซาติวาในการรักษาอาการหรือโรคต่างๆ
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างกัญชา 2 สายพันธุ์นี้คือระดับการออกฤทธิ์ รวมถึงเอฟเฟกต์ที่มีต่อร่างกายและจิตประสาท โดยสายพันธุ์อินดิกานั้นมีสาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาท (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง มีแนวโน้มทำให้พลังงานลดลง จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในช่วงเย็นหรือกลางคืนหลังเลิกงาน อินดิกาสายพันธุ์ที่ออกฤทธิ์รุนแรงสามารถทำให้ผู้ใช้บางรายเข้าสู่ภาวะ “นิ่งดิ่ง” (couchlock) ขยับตัวลุกจากที่นั่งไปไหนไม่ได้
ในทางตรงกันข้าม ซาติวามีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท (Psychoactive) สูงกว่าอินดิกา ส่งผลต่อจิตประสาท จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้จดจ่ออยู่กับงานหรือสิ่งต่างๆ ที่ทำ เรียกได้ว่าอินดิกานั้นให้ความเคลิ้มสุขทางร่างกาย (body high) ในขณะที่ซาติวาจะความเคลิ้มสุขทางจิตประสาท (mind high)
โดยทั่วไปแล้วสายพันธุ์ซาติวาใช้เวลาปลูกนานกว่าและให้ผลผลิต (ดอกกัญชา) น้อยกว่าอินดิกา เหตุนี้เองจึงทำให้อินดิกาจึงกลายเป็นที่นิยมในตลาดมืด เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทำกำไรได้มากกว่า แม้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือบำบัดอาการต่างๆ ไม่เทียบเท่าซาติวาเลยก็ตาม ผู้ใช้จึงควรหลีกเลี่ยงกัญชาที่มาจากตลาดมืด หรือกัญชาที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือมีข้อมูลทางด้านสายพันธุ์ที่ไม่ชัดเจน
ในปัจจุบัน ผู้ปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้มีการผสมและขยายสายพันธุ์ในวงกว้างทั้งในกลุ่มอินดิกาและซาติวา เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมแก่ความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย โดยคำนึงถึงผลในการบรรเทาและรักษาโรค ความชอบ และไลฟ์สไตล์ ผู้ใช้บางรายไม่ต้องการฤทธิ์ระงับประสาทของอินดิกา เพราะต้องใช้พลังงานในการทำงานหรือจัดการกับความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน สายพันธุ์ซาติวามักจะใช้ได้ผลดีกับอาการผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า PTSD และความวิตกกังวล ส่วนอินดิกานั้นช่วยในเรื่องของอาการเจ็บปวดและอักเสบ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบ ภาวะปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) และมะเร็ง
กลิ่นของกัญชาสายพันธุ์อินดิกานั้นค่อนข้างเหม็นอับและฉุนขึ้นจมูก ส่วนซาติวาจะมีกลิ่นหวานออกแนวผลไม้ แฝงด้วยความเผ็ดร้อน ความแตกต่างของกลิ่นนี้เป็นผลมาจากกลุ่มสารเทอร์ปีน ซึ่งเป็นโมเลกุลของพืชกัญชาที่ใกล้เคียงกับแคนนาบินอยด์ เช่น THC และ CBD
สายพันธุ์ไฮบริด (Hybrid) คืออะไร
สายพันธุ์ไฮบริดคือสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์กัญชาชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการรักษาและประโยชน์ทางด้านการแพทย์ นำไปใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น ลูปัส โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคโครห์น และโรคลมบ้าหมู กัญชาสายพันธุ์ไฮบริดนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมกันระหว่าง อินดิกา และ ซาติวา แต่บางทีผู้ปลูกก็มีการผสมกันระหว่าง อินดิกา หรือ ซาติวา ด้วยกันเอง โดยสายพันธุ์ไฮบริดที่มีลักษณะค่อนไปทางอินดิกาจะเรียกว่า “indica dominant” หรือ “อินดิกาเด่น” ในขณะที่ไฮบริดที่เอนเอียงไปทางซาติวา ก็จะเรียกว่า“sativa dominant” หรือ “ซาติวาเด่น” บางครั้งมีการเรียกจากสัดส่วนของสายพันธุ์ที่ผสม เช่น “60/40 ซาติวา/อินดิกา” หรือไม่ก็ “70% อินดิกา” หรือ “80% ซาติวา”
สายพันธุ์พื้นถิ่นและสายพันธุ์แอร์ลูม (Landrace Strains & Heirlooms)
สายพันธุ์พื้นถิ่น (Landrace Strains) คือสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสายพันธุ์ที่มนุษย์ไม่ได้เพาะปลูกขึ้นมา หรือได้จากการข้ามสายพันธุ์ ดังนั้นจึงเป็นตัวอย่างสายพันธุ์กัญชาแบบบริสุทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น สายพันธุ์แลนด์เรซมักเป็นอินดิกาหรือซาติวาเพียวๆ 100% เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมข้ามพันธุ์เป็นเวลาหลายหมื่นปีในสภาพอากาศและภูมิศาสตร์โดยเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น ส่วนสายพันธุ์แอร์ลูม (Heirlooms) นั้น คือสายพันธุ์พื้นถิ่นที่ปลูกนอกสภาพแวดล้อมดั้งเดิม โดยมากแล้ว สายพันธุ์แอร์ลูมจะสูญเสียลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างไป เมื่อปลูกในสภาพอากาศที่นอกเหนือจากถิ่นธรรมชาติดั้งเดิมของพวกมัน
ตัวอย่างของสายพันธุ์พื้นถิ่น ได้แก่ ซาติวาจากแอฟริกาใต้ Durban Poison, อินดิกาจากอัฟกานิสถาน Afghan, ซาติวาจากแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ Malawi Gold และ ซาติวาจากปานามา Panama Red ซาติวาพื้นถิ่นส่วนใหญ่พบได้ในแถบเอเชีย อนาโตเลีย และแอฟริกาเหนือ เนื่องจากมีแสงแดดจัดและภูมิอากาศร้อนยาวนาน ส่วนอินดิกานั้น มักจะพบในอัฟกานิสถาน อินเดีย และปากีสถาน
อะไรเป็นตัวกำหนดสายพันธุ์ ซาติวา หรือ อินดิกา
อย่างที่เราเกริ่นไปแล้วในข้างต้นว่า กลิ่นหอมฉุนของกัญชานั้นเป็นผลมาจากเทอร์ปีน (terpene) ซึ่งเป็นโมเลกุลพิเศษในพืชที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้านกับแคนนาบินอยด์ เช่น THC และ CBD แม้ว่าหลายคนอาจเดาได้ว่ากัญชาสายพันธุ์ไหนเป็น อินดิกา ซาติวา หรือไฮบริด โดยพิจารณาสารแคนนาบินอยด์ที่มีอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทอร์ปีน ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าสายพันธุ์ไหนเป็น อินดิกา หรือ ซาติวา
สารเทอร์ปีนที่พบมากที่สุดในกัญชามีชื่อว่า ไมร์ซีน (Myrcene) มีคุณสมบัติช่วยให้ผู้ใช้นอนหลับ และบรรเทาภาวะวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับ หากพบไมร์ซีนในสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งในปริมาณที่มากกว่า 0.5% จะถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นอินดิกา หากปริมาณต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของ 1% ก็จะถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นซาติวา ตัวอย่างดังกล่าวเป็นตัวอย่างของ “Entourage Effect” หรือ ผลของการที่สารประกอบอื่นๆ ในกัญชาที่นอกเหนือจากสารเด่นๆ อย่าง THC และ CBD เช่น สารในกลุ่มเทอร์ปีน และ สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ช่วยเสริมฤทธิ์ให้ประสิทธิภาพของกัญชาออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกลไกหลักทั้งหมด 3 ข้อที่ทำให้เกิด Entourage Effect นั่นก็คือ 1. กลไกทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ หรือ กลไกทางด้านดูดซึม กระจายตัว การเปลี่ยนแปลง และ การกำจัด 2. กลไกทางด้านพลศาสตร์ หรือ การตอบสนองของร่างกายต่อกัญชาแบบทางตรง และ 3. กลไกทางด้านพลศาสตร์ หรือ การตอบสนองของร่างกายแบบทางอ้อม เช่น สารในกลุ่มเทอร์ปีน ทำให้เสริมฤทธิ์ให้ง่วงนอนมากขึ้น โดยผ่านกลไกในระบบโดปามีน ซึ่งเป็นคนละระบบกับระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.crescolabs.com/indica-vs-sativa
“คัมภีร์กัญชงกัญชาสยบมะเร็งร้าย” โดย ภก. พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี