กัญชา 101 ทำความรู้จักกับพืชกัญชา ประโยชน์ทางการแพทย์ ประวัติการใช้กัญชาในประเทศไทยและสถานะทางกฏหมายในปัจจุบัน
กัญชา (cannabis) เป็นพืชสมุนไพรในตระกูล Cannabaceae ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลางและใต้ มีประวัติศาสตร์เคียงคู่มนุษย์ชาติมายาวนานหลายพันปี มนุษย์เรามีการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ หลากหลายรูปแบบทั้งด้านการแพทย์ในรูปแบบของยาแผนโบราณ ตามที่มีการบันทึกไว้ในตำราอายุรเวทของชนเผ่าต่างๆ รวมถึงด้านนันทนาการเพื่อการผ่อนคลาย และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาหรือวิญญาณ บางอารยธรรมของโลกโบราณยังยกย่องให้กัญชาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงการนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น เส้นใยป่าน (hemp) ไปผลิตกระดาษ เสื้อผ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ และอาหาร กัญชาเป็นพืชที่มีสารออกฤทธิ์ (bioactive compounds) มากกว่า 400 ชนิด ที่พบมากที่สุดคือสาร “แคนนาบินอยด์” (cannabinoids) หรือที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นหูกับอักษรย่ออย่าง THC และ CBD
THC และ CBD แตกต่างกันอย่างไร
THC หรือ “เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์” (tetrahydrocannabinol) จะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับสารสื่อประสาท (Receptor) ของ THC ในร่างกายมนุษย์ชื่อว่า CB1 ส่งผลต่อระบบการทํางานของสมองและร่างกายในส่วนต่างๆ เช่น Hippocampus (ความจํา), Cerebral Cortex (การรับรู้), Cerebellum (ระบบประสาทเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย), Basal Ganglia (การเคลื่อนไหว), Hypothalamus (ความต้องการพื้นฐานเช่น ความหิว การสืบพันธุ์ และการผักผ่อน), Amygdala (อารมณ์) เป็นต้น
ในร่างกายมนุษย์ยังมีตัวรับสารสื่อประสาทตัวที่สอง ชื่อว่า cannabidiol 2 (CB2) ซึ่งพบในระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทส่วนปลาย รวมถึงในกระเพาะ ม้าม ตับ หัวใจ ไต ต่อมไร้ท่อต่างๆ และอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบการทํางานของสารแคนนาบินอยด์และตัวรับสาร CB1 และ CB2 ที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายเรานั้นมีชื่อเรียกว่า “ระบบเอนโดแคนนาบินอยด์” (endocannabinoid system)
สาร THC จะออกฤทธิ์ต่อสมองกระตุ้นสมองส่วนที่หลั่งสารโดปามีน (dopamine) ทำให้เกิดความรู้สึกเมาเคลิ้ม (“high” หรือ “stoned”) มีความสุข อยากทำกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกดีๆ สนุกสนาน ร่างกายเบาและผ่อนคลาย ทั้งหมดนี้ก็คือเอฟเฟกต์คลาสสิกที่ได้จากการสูบกัญชานั่นเอง ในทางตรงกันข้าม หากใช้ THC ในปริมาณที่สูงหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดอาการเสพติด ประสาทหลอน วิตกกังวลและหวาดระแวง ทำให้การทํางานของสมองช้าลงจนหยุดสร้างสารโดปามีน ทําให้รู้สึกหงุดหงิดง่ายเวลาไม่ได้ใช้
ส่วน CBD หรือ “แคนนาบิไดอัล” (cannabidiol) นั้นจะออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ THC ไม่ทำให้เสพติดหรือเกิดอาการเมาเคลิ้ม จึงทำให้มีการนำไปใช้ในทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลาย CBD ช่วยลดอาการทางจิตประสาทของ THC ลดอาการวิตกกังวล อาการคลื่นใส้อาเจียน ทำให้อารมณ์ดี นอนหลับ เพิ่มความอยากอาหาร และอาจช่วยรักษาโรคโรคจิตเภทและโรคลมชักต่างๆ ได้อีกด้วย
ประวัติการใช้กัญชาในประเทศไทยประวัติการใช้กัญชาในประเทศไทย
มีการสันนิษฐานกันว่าประเทศไทยนำกัญชาเข้ามาจากประเทศอินเดีย โดยอ้างอิงอ้างจากชื่อซึ่งคล้ายกับคำว่า गांजा (ganja) ในภาษาฮินดี และถ้าหากลองไล่ดูตามไทม์ไลน์ด้านล่างนี้ จะเห็นว่าเดิมทีกัญชาไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฏหมายในประเทศของเราแต่อย่างใด
– มีการใช้กัญชาเป็นเครื่องประกอบอาหารและมีการปลูกในระดับครัวเรือนในลักษณะเป็นพืชผักสวนครัวมายาวนาน (กันนิษฐา มาเห็ม และคณะ, 2545)
– กระบวนทัศน์การมองกัญชาของประเทศไทยเปลี่ยนจากพืชสมุนไพรกลายเป็นยาเสพติดมาตั้งแต่ปี 2468 เรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน (มานพคณะโต, 2549)
– พ.ศ. 2468 ประเทศไทยออกกฎเสนาบดีเรื่องกัญชา โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมสาธารณสุขกำหนดให้ “ยาที่ปรุงด้วยกัญชา ยาผสม หรือของปรุงใดๆ ที่มีกัญชา ยางกัญชาแท้หรือที่ได้ปรุงปนวัตถุใดๆ ให้นับว่าเป็นยาเสพติดให้โทษทั้งสิ้น”
– พ.ศ. 2477 มีการตราพระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช 2477 โดยมีสาระสำคัญใน “มาตรา 5 ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกกัญชาหรือมีพันธุ์กัญชาไว้ ทั้งนี้ ผู้ปลูก นำเข้า ส่งออก มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โดยในวรรค (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทยอาจอนุญาตให้เฉพาะบุคคล ปลูกหรือมีพันธุ์กัญชาไว้เพื่อการทดลองหรือเพื่อประกอบโรคศิลปะได้
– วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 แห่งสหประชาชาติ (UN) โดยกำหนดให้พืช 3 ชนิดและผลิตภัณฑ์ คือ ฝิ่น โคคา และกัญชา (กระท่อม) เป็นยาเสพติด
– พ.ศ. 2522 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทำให้สถานะกัญชาในประเทศไทยจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 (ยส. 5) ซึ่งการปลูก ขาย ครอบครอง เสพ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย กัญชาจึงถูกจัดให้กลายเป็น ‘ยาเสพติด’ อย่างสมบูรณ์
จุดเปลี่ยนสู่การปลดล็อคกัญชาเสรี
– พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ.2562) เปิดช่องให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ยังผูกขาดความร่วมมือไว้กับหน่วยงานรัฐเท่านั้น
– วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุ ชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของกัญชา กัญชง โดยเหลือเพียงสารสกัด THC ที่มากกว่า 0.2% ของน้ำหนักเท่านั้น เป็นเวลา 40 กว่าปี ที่พืชกัญชาจะหลุดพ้นจากสถานะการเป็นยาเสพติด
- วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ โดยกำหนดให้ "ทุกส่วนของกัญชา" ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ช่อดอก เปลือก เส้นใย ใบ กิ่งก้าน ราก ทั้งสดหรือแห้ง รววมถึงกากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป (เว้นแต่สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2% เท่านั้น ที่ยังถือเป็นยาเสพติด) ทำให้การกัญชาในประเทศไทยสามารถ ปลูก สูบ ครอบครอง สำหรับใช้ส่วนตัวได้โดยไม่มีความผิดทางกฏหมาย ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายให้ใช้กัญชาแบบเสรี หรือถูกกฎหมายทั้งทางกัญชาสันทนาการและกัญชาการแพทย์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30139415/
https://www.sydney.edu.au/lambert/medicinal-cannabis/the-cannabis-plant.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Cannabis_(drug)
https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2264
https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf
https://bit.ly/3ABfsM3
https://en.wikipedia.org/wiki/Legality_of_cannabis
https://www.thairath.co.th/news/society/1570476
https://exoticquixotic.com/culture/cannabis-101/?fbclid=IwAR04yaXKJ1UX4v4eFYSlLFxrMDHFJk7H_SerJDpzi9acDTPfh7TANklTrjU
ไอคอนประกอบบทความจาก Freepik - Flaticon