ทำความรู้จักกับสารออกฤทธิ์ในกัญชาชนิดต่างๆ
กัญชานับว่าเป็นหนึ่งในพืชที่มีความซับซ้อนมากที่สุด โดยมีองค์ประกอบทางเคมีมากกว่า 400 ชนิด ซึ่งมากกว่า 60 ชนิดนั้นคือสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ได้แก่ เตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinol: THC) และ แคนนาบิไดอัล (Cannabidiol: CBD) ทั้ง THC และ CBD สามารถพบได้ทั้งในกัญชาและกัญชง แต่โดยส่วนมากต้นกัญชงจะมีสาร CBD มากกว่า ในขณะที่สาร THC จะพบมากในต้นกัญชา
นอกจาก THC และ CBD แล้ว ยังมีสารออกฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมายที่พบได้ในพืชกัญชา เช่น CBG, CBN หรือ THCa ลองมาดูกันว่าสารต่างๆ เหล่านั้นจะมีความเหมือนหรือแตกต่างจาก THC และ CBD อย่างไรบ้าง
THC
ถ้าพูดถึงเอฟเฟกต์โดดเด่นเฉพาะตัวของกัญชาแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าภาพจำของใครหลายๆ คนน่าจะเป็นอาการ “เมาเคลิ้ม” อาการดังกล่าวเป็นผลมาจากสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในพืชกัญชาที่ชื่อว่า “เตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์” หรือ THC สารตัวนี้ นอกจากจะทำให้เมาเคลิ้มแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับได้ง่ายขึ้น ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร เรียกได้ว่า THC นั้น เป็น “OG” หรือตัวพ่อรันวงการของกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ก็คงไม่เกินความจริงนัก ปัจจุบันในประเทศไทย สารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ปี 2565 ที่เพิ่งผ่านไปแบบสดๆ ร้อนๆ
จุดเด่น: ทำให้เกิดอาการเมาเคลิ้ม หรือ “stoned” แบบในตำนาน
พบได้ใน: ดอกกัญชา, บุหรี่ยัดไส้กัญชาแบบม้วนสำเร็จ (pre-rolled joints), เอดิเบิลส์ (edibles), สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์ทาภายนอกที่มี THC
CBD
CBD หรือ แคนนาบิไดอัล (Canabidiol) นั้น เป็นสารสกัดที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยรองลงมาจาก THC สารตัวนี้พบได้มากในกัญชง (hemp) มีการสกัดออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1940
ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ THC นั่นคือไม่ทำให้เสพติด หรือเกิดอาการเมา เนื่องจาก CBD มีคุณสมบัติทางการแพทย์หลากหลาย จึงถูกนำไปใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการต่างๆ เช่น ลดอาการปวด ลดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ และต้านอาการของโรคลมชักหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมชักหลายประเภทในเด็ก ด้วยผลข้างเคียงที่น้อยหรือแท่บจะไม่มีเลย ทำให้ CBD เป็นดาวเด่นของวงการบำบัดและรักษาสุขภาพ
จุดเด่น: ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ และลดการอักเสบ นอกจากนั้นแล้วองค์การอาหารและยาได้อนุมัติยา Epidiolex ที่ประกอบด้วย CBD เพื่อควบคุมอาการชักจากโรคลมชักบางประเภทอีกด้วย
พบได้ใน: ดอกกัญชง, บุหรี่ยัดไส้กัญชงแบบม้วนสำเร็จ (pre-rolled joints), ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัด CBD ที่รับประทานได้และใช้เฉพาะที่
CBG
สาร แคนนาบิเจอรัล (Cannabigerol) หรือ CBG ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สารตัวแม่ของแคนนาบินอยด์” เนื่องจากเป็นสารต้นกำเนิดของสารแคนนาบินอยด์ทั้งหมดที่มีในต้นกัญชง-กัญชา เช่น THC และ CBD
จุดเด่น: มีเอฟเฟกต์คล้ายกับ CBD ช่วยลดอาการวิตกกังวล และอาการปวด จากการศึกษาในสัตว์ พบว่า CBG นั้นมีศักยภาพในการบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบ ชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และต่อสู้กับมะเร็งสมอง ”ไกลโอบลาสโตมา” ซึ่งเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตของวุฒิสมาชิกสหรัฐ จอห์น แมคเคน และเท็ด เคนเนดี
พบได้ใน: ผลิตภัณฑ์ CBG ที่ใช้ภายนอก น้ำมัน และสารสกัด CBG
CBN
สาร แคนนาบินอล (Cannabidol) หรือ CBN นั้นแทบไม่ปรากฏในกัญชาสดเลย แต่พบได้มากในกัญชาแห้ง เนื่องจากเป็นสารที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ของสาร THC ในระหว่างการเก็บรักษา
จุดเด่น: ใช้เป็นยาช่วยนอนหลับหรือยากล่อมประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรเทาอาการปวดและการอักเสบที่เกิดจากสภาวะต่างๆ ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น และจากการวิจัยยังพบว่าอาจมีประโยชน์ในการต่อต้านแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะ และการศึกษาในสัตว์ทดลองระบุว่าอาจช่วยชะลอการเกิด ALS ได้เช่นเดียวกับการกระตุ้นความอยากอาหาร
พบได้ใน: ผลิตภัณฑ์ผสมสาร CBC ที่บริโภคได้ หรือถ้าใครมีกัญชาอยู่ที่บ้าน ให้เปิดถุงแล้ววางไว้บนโต๊ะไว้สักพัก สาร CBN ก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
CBC
สาร CBC (Cannabichromene) เป็นสารแคนนาบินอยด์ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก มีคุณสมบัติคล้ายกับ CBD และ THC แต่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ส่วนใหญ่พบได้ในพืชกัญชาที่ยังไม่โตเต็มที่
จุดเด่น: จากการศึกษาวิจัยพบว่า CBC นั้นออกฤทธิ์ต้านมะเร็งและยับยั้งการเกิดสิว ช่วยบล็อคอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ และอาการไมเกรน
พบได้ใน: สารสกัด CBC ในรูปแบบของทิงเจอร์ (tincture) เช่น ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Barker Wellness ของ Travis Barker มือกลองชื่อดังวง Blink 182
THCv
นักวิจัยให้ความสนใจต่อ THCv (Tetrahydrocannabivarin) มาตั้งแต่ยุค 70 โดยเชื่อกันว่าเป็นสารที่ให้ความเมาเคลิ้มที่กระตุ้นให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า THCv มีฉายาสุดเท่ว่า “รถสปอร์ตของกัญชา”
จุดเด่น: ช่วยบรรเทาภาวะวิตกกังวล อาการชักจากลมบ้าหมู และโรคพาร์กินสัน สารตัวนี้เป็นลูกรักของธุรกิจกัญชาในฐานะตัวช่วยระงับความอยากอาหาร (munchies)
พบได้ใน: ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัด THCv ทั้งแบบรับประทานได้และใช้เฉพาะที่
THCa
สาร THCa (Tetrahydrocannabinolic) เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท พบมากในกัญชาสด แต่ THCa จะกลายเป็น THC เมื่อมีการสูบเข้าร่างกาย ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยถึงคุณสมบัติที่อาจใช้เป็นยาแก้อาเจียน
จุดเด่น: THCa สารต้านการอักเสบ ยาแก้อาเจียน สารป้องกันระบบประสาทซึ่งสามารถช่วยต่อสู้กับโรคต่างๆ เช่น พาร์กินสัน และมะเร็ง
พบได้ใน: สารสกัด THCa ในรูปแบบของทิงเจอร์ (tincture)
Delta-8-THC
Delta-8-THC (Delta-8-tetrahydrocannabinol) เป็นสารแคนนาบินอยด์ที่กำลังอินเทรนด์อยู่ในตอนนี้ เพราะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้เมาเคลิ้ม คล้าย THC แต่อาจจะไม่รุนแรงหรือนานเท่า Delta-8-THC มีสถานะถูกกฏหมายเหมือน CBD เพราะสามารถสกัดได้จากกัญชง
จุดเด่น: ทำให้เมาเคลิ้ม เป็นสารที่ถูกกฏหมาย (แล้วแต่ประเทศ)
พบได้ใน: ผลิตภัณฑ์เอดิเบิลส์ (edibles) เช่น กัมมี่ และตลับเวป (vape cartridges)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://yhoo.it/3yZO4Vk
https://bit.ly/3yO7bSo
https://bit.ly/3B8a9nG
https://www.pptvhd36.com/health/news/1014